|
|
|
|
ประกาศ ข่าวสาร |
|
|
นมแคลเซียมสูง กำลังเป็นที่นิยมมาก |
นมแคลเซียมสูง กำลังเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุและมีราคาแพงกว่า ’นมแบบปกติ’ จึงเป็นที่มาของคำถามว่าเราจำเป็นต้องจ่ายแพงเพื่อซื้อ ’นมแคลเซียมสูง’ จริงหรือ ?พบ’ความจริง’ของการตลาดนมแคลเซียมสูงได้ที่นี่
นมวัวเป็นแหล่งแคลเซียมที่สำคัญ เพราะในนมสด 1 แก้ว(200มิลลิลิตร)จะมีแคลเซียม 240 มิลลิกรัม ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูง จึงมีคำถามที่ควรหาคำตอบว่า ... เหตุใดยังต้องมีนมแคลเซียมสูงออกมาวางขายอีก?!?
ในปัจจุบันจะสังเกตได้ว่า บรรจุภัณฑ์ของนมแคลเซียมสูงมีลักษณะดึงดูดผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์ได้ผลดี แม้แต่นมถั่วเหลือง ที่ถูกโจมตีว่าแคลเซียมต่ำ ก็หันมาเติมแคลเซียมเพื่อลดจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาด ตอนนี้จึงกลายเป็นว่าเอะอะอะไร ก็ต้อง ’แคลเซียมสูง’ ไว้ก่อน แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจจริงๆ ว่า การที่นมมีแคลเซียมสูงนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการที่ ’ร่างกายดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ ’
จากการสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง เราได้เลือกหยิบนมพร้อมดื่มและนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม แบ่งเป็นนมโค 3ยี่ห้อ ได้แก่ แอนลีน นูต้าแม็กซ์ ฟาร์มโชคชัย และโฟรโมสต์ แคลซีแม็กซ์ , นมถั่วเหลือง 4ยี่ห้อ ได้แก่ แลคตาซอย ดีน่า ไวตามิลค์ และวีซอย ซึ่งล้วนอ้างว่ามี ’แคลเซียมสูง’ มาทดสอบหาปริมาณแคลเซียม
จากการทดสอบ พบว่า...
- นมโค ยี่ห้อ แอนลีนและโฟรโมสต์ แคลซีแม็กซ์ มีปริมาณแคลเซียมสูงกว่านมธรรมดาจริง ขณะที่ยี่ห้อ นูต้าแม็กซ์ ฟาร์มโชคชัย มีปริมาณแคลเซียมน้อยกว่านมโคธรรมดา
- ส่วนนมถั่วเหลืองนั้น มีทั้งแบบที่มีแคลเซียม ’ต่ำกว่า’ ’สูงกว่า’ และ’ใกล้เคียง’ กับนมโคธรรมดา ทั้งนี้ ยี่ห้อ วีซอย สูตรน้ำตาลน้อย มีแคลเซียมมากที่สุด ที่ 173 มก./ 100 มล. ส่วน แลคตาซอย มีแคลเซียมน้อยที่สุด ที่ 66 มก./ 100 มล.
- ปริมาณแคลเซียมส่วนใหญ่มีความใกล้เคียงกับฉลากโภชนาการที่ระบุไว้ข้างกล่อง ยกเว้น ยี่ห้อนูต้าแม็กซ์ ฟาร์มโชคชัย ทั้ง 2 สูตร ที่มีปริมาณแคลเซียมที่แท้จริงน้อยกว่าปริมาณที่ระบุในฉลากค่อนข้างมาก ส่วนนมถั่วเหลืองที่มีแคลเซียมน้อยกว่าที่ฉลากระบุ คือ ดีน่า สูตรผสมน้ำแครอท และวีซอย สูตรไม่มีน้ำตาล
แคลเซียมสูง...ไม่สำคัญเท่าการดูดซึม
จากการสอบถาม ผศ.ดร.สมศรี เจริญเกียรติกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทราบว่า การดื่มนมหรือนมถั่วเหลืองแคลเซียมสูงไม่มีดีไปกว่าการดื่มนมธรรมดา เพราะแม้นมจะมีปริมาณแคลเซียมสูงกว่าจริง แต่ร่างกายของเราจะไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้ทั้งหมด สืบเนื่องจากกระบวนการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย ซึ่งหากบริโภคแคลเซียมปริมาณมากในครั้งเดียว ร่างกายจะดูดซึมน้อย แต่หากทยอยบริโภคทีละนิด ร่างกายจะดูดซึมได้มากขึ้น
นอกจากนี้ กระบวนการดูดซึมแคลเซียมยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การดื่มนมขณะท้องว่าง ซึ่งร่างกายจะดูดนำไปใช้ได้น้อยกว่าตอนที่ท้องไม่ว่าง รวมทั้งแคลเซียมไม่ได้มีแค่ในนมเท่านั้น อาหารประเภทอื่นๆ ก็มีแคลเซียมเช่นกัน เช่น เต้าหู้แข็ง ถั่ว งา ปลาเล็กปลาน้อย ปลากรอบ ปลาป่น กะปิด กุ้งแห้ง ผักคะน้า และผักกวางตุ้ง
ความจริงเกี่ยวกับ ’แคลเซียม’ และความคลุมเครือในโฆษณา
- การระบุแคลเซียม- 10 ที่มีขนาดเล็กกว่าแคลเซียมธรรมดา 10 เท่า ซึ่งเรามักเข้าใจว่าจะสามารถดูดซึมเข้าร่างกายได้ดีกว่านั้น ความจริงแล้วการดูดซึมของร่างกายจะเป็นไปตามกระบวนการที่ระบุไว้ข้างต้น นอกจากนี้ ความจริงแล้วขนาดของแคลเซียมมีเพียงขนาดเดียวเท่านั้น!!
- การที่ระบุว่า การบริโภคนมแคลเซียมสูงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ ต้องบริโภค’วิตามิน เค’ ให้สูงตามไปด้วย โดยอ้างว่าวิตามินเค อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันการสลายตัวของแคลเซียมนั้น ความจริงแล้วร่างกายเราสามารถผลิตวิตามิน เค ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องบริโภคจากภายนอก
- การที่ระบุว่า นมแคลเซียม 1 กล่องมีปริมาณแคลเซียมสูงกว่าปกติ 4 เท่า นั้น เป็นความจริง แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะประเด็นสำคัญคือเรื่องการดูดซึมเข้าร่างกาย
- การที่ระบุว่า มีการผสม ’โอลิโก ฟรุกโตส’ ในนมแคลเซียมสูง โดยอ้างว่า’โอลิโก ฟรุกโตส’อาจช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมนั้น ความจริงจากการวิจัยพบว่าเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน และจำเป็นต้องได้รับการวิจัยต่อไปอีกมาก
ที่มา นิตยสาร ′ ฉลาดซื้อ ′ ฉบับที่ 90 โดย กองบรรณาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค |
|
|
|
|
|