กทม.เผยสุ่มตรวจตู้น้ำดื่มไม่ผ่านมาตรฐาน พบมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนกว่า 7% สภาพตู้สกปรก แจ้งผู้ประกอบการหมั่นทำความสะอาด ขู่ยึดใบอนุญาตหากผิดซ้ำซาก เตือนเจ้าของตู้น้ำขอใบอนุญาตหากฝ่าฝืนจะอายัดเครื่องทันที
เมื่อวันที่ 10 มกราคม นางอินจิรา นิยมธูร ผู้อำนวยการกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าว ถึงการควบคุมตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขต กทม.ให้มีมาตรฐานถูกสุขลักษณะว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญเมื่อช่วงปลายปี 2553 โดยสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำดื่มจำนวน 618 ตัวอย่างทั้ง 50 เขตใน กทม. พบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำดื่มจำนวน 44 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 7.2% ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยแจ้งให้ผู้ประกอบการล้างทำความสะอาดตู้และอุปกรณ์ เมื่อนำตัวอย่างน้ำดื่มไปตรวจสอบอีกครั้งก็ไม่พบการปนเปื้อนซ้ำ แต่ถ้ามีตู้ใดที่ปนเปื้อนซ้ำก็จะยึดใบอนุญาตและปิดบริการทันที สำหรับการควบคุมตู้น้ำดื่มเน้นการเฝ้าระวัง โดยลงพื้นที่สุ่มตรวจการปนเปื้อนเชื้อโรคปีละ 3 ครั้งตามนโยบายผู้บริหาร กทม. นาง อินจิรา กล่าวว่า นอกจากปัญหาการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อโรคและเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่าง กายแล้ว ยังพบว่าผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ดูแลรักษาเครื่องให้สะอาดและมี คราบฝุ่นละอองจับสกปรก ซึ่งปัญหานี้เริ่มมีน้อยลง หลังจาก กทม.ลงพื้นที่ตรวจสอบมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มจะต้องขอรับใบอนุญาตจาก กทม. เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้การผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภคเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเพื่อให้ราชการ ส่วนท้องถิ่นออกข้อกำหนด กทม.มี ข้อบัญญัติให้ผู้ประกอบการต้องขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยวัสดุที่ใช้ในการผลิตตู้น้ำดื่มต้องทนทาน ไม่ผุกร่อน ไม่มีสารละลายน้ำที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การติดตั้งอยู่ที่สถานที่เหมาะสม มีระบบป้องกันภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่วหรือลัดวงจร ผู้ประกอบการต้องทำความสะอาดตู้ ถังเก็บน้ำ หัวจ่ายน้ำดื่มหยอดเหรียญ และตรวจสอบประสิทธิภาพของการล้างฆ่าเชื้อเครื่องจักรอุปกรณ์อย่างน้อยเดือน ละ 1 ครั้ง แหล่งน้ำที่นำมาใช้ต้องมีคุณภาพดี เช่น น้ำประปา น้ำจากบ่อบาดาล เป็นต้น "ขณะนี้มีผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 1,000 รายที่ไม่ขอรับใบอนุญาตจาก กทม. ซึ่งถือเป็นตู้เถื่อน ไม่เสียค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อปี และมักจะเคลื่อนย้ายสถานที่ตั้งตู้น้ำหลบหนีการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นปัญหาของแต่ละเขตที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ กทม.มีอำนาจอายัดตู้น้ำที่ผิดกฎหมายได้ โดย กทม.จะมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้ไปขออนุญาตภายใน 7 วัน หากพ้นกำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป" ผอ.กองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กทม.กล่าว สำหรับ การติดสติ๊กเกอร์ตรากรุงเทพมหานครบนตู้น้ำดื่มที่ผ่านการตรวจสอบและได้ มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข นางอินจิรา บอกว่า ได้จัดทำสติ๊กเกอร์ดังกล่าวจำนวน 3,000 แผ่นแจกจ่ายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตไปดำเนินการแล้ว รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบัน วิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั่วไปผ่านกระบวนการผลิตน้ำที่เรียกว่าอาร์โอ เป็นการกรองน้ำให้สะอาดบริสุทธิ์ หากน้ำผ่านการกรองที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยึดหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ผู้บริโภคน้ำก็จะไม่เป็นอันตราย แต่น้ำดื่มปนเปื้อนเชื้อโรคเกิดจากผู้ประกอบกิจการไม่ดูแลรักษาตัวเครื่อง และอุปกรณ์ให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวไส้กรองที่มีอายุการใช้งาน จะต้องทำความสะอาดอย่างดีตามระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ปล่อยให้เชื้อโรคสะสมหรือตกค้างอยู่ในเครื่อง อีกทั้งเจ้าของเครื่องมักจะดัดแปลงหรือซ่อมแซมตู้น้ำด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคน้ำดื่ม "คุณภาพ ของน้ำดื่มนอกจากขึ้นอยู่กับมาตรฐานตู้ผลิตน้ำแล้ว ยังอยู่ที่แหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ว่าผ่านการฆ่าเชื้อโรคหรือยังเติมคลอรีนใน ปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่ และท่อประปาส่งน้ำมีความแข็งแรงหรือรั่วไหล เพราะถ้าท่อน้ำแตกก็จะทำให้เชื้อโรคพวกจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่เกิดจากซาก พืชซากสัตว์ลอยปนเปื้อนในน้ำด้วย" รศ.ดร.วิสิฐกล่าว ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
|