การกลับมาอีกครั้งของมหากาพย์การผจญภัยอันน่าตื่นเต้นและมหัศจรรย์ ชื่อ “ฮอบบิท” ผุดขึ้นในใจของเจ.อาร์.อาร์. โทลคีน ได้อย่างไร ไม่มีใครรู้ได้ เพราะจู่ๆวันหนึ่ง ระหว่างที่กำลังตรวจข้อสอบของนักศึกษา โทลคีนก็เขียนลงไปในกระดาษว่า “มีฮอบบิทคนหนึ่งอาศัยอยู่ในรู” และจากรูเล็กๆนั่นเอง ที่โทลคีนสร้างโลกในจินตนาการของเขาขึ้นมา กลายเป็นการผจญภัยพิลึกพิลั่นสนุกสนานเล่มนี้ “ฮอบบิท” และเป็นที่มาของมหากาพย์เรื่องยิ่งใหญ่ของโลก “ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์” แต่การผจญภัยของบิลโบ แบ๊กกิ้นส์ แตกต่างจากการเผชิญภัยของโฟรโดอย่างเห็นได้ชัด โฟรโด แบ๊กกิ้นส์ ในลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ไม่ได้สมัครใจจะไปเผชิญภัยทั้งหลายทั้งปวง เขาถูกผลักดันเข้าไปทำ และถูกกระตุ้นโดยจิตสำนึกส่วนลึกว่า “ต้องทำ” โฟรโดต้องออกเดินทางโดยไม่รู้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะนำไปสู่เรื่องใด จะได้กลับมาบ้านอีกครั้งหรือไม่ หรือกลับมาพร้อมกับบาดแผลที่ทำให้บ้านไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ส่วนเล่มนี้ บิลโบออกผจญภัยด้วยความสมัครใจ (แม้จะตกกระไดพลอยโจนอยู่บ้างในช่วงแรก) เป็นการผจญภัยเพราะอยากหนีไปจากความซ้ำซากจำเจเดิมๆ (แม้จะคิดถึงที่นอนอุ่นสบายอยู่บ้างเป็นระยะ) เป็นการผจญภัยที่จริงๆแล้วจะหนีกลับมาก่อนก็ได้ ไม่มีภารกิจใดๆให้รับผิดชอบ ไม่มีจิตใต้สำนึกใดๆบอกว่าต้องทำ และที่สำคัญคือ เขารู้ว่าเมื่อเสร็จสิ้นการผจญภัยแล้ว เขาจะได้กลับบ้าน (นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่เรื่องนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า There and Back Again) การผจญภัยของบิลโบครั้งนี้ทำให้เขาได้แหวนมาไว้ในครอบครอง แต่ตลอดทั้งเล่ม บิลโบและผู้อ่านไม่รู้เลยแม้แต่น้อยว่า แหวนที่เขาได้มานั้นมีความสำคัญเพียงใด (บางทีโทลคีนเองก็อาจยังไม่รู้) รู้แต่เพียงว่ามันมีความวิเศษบางประการ และช่วยให้บิลโบรอดมาได้ในยามคับขัน หนังสือเล่มนี้วางแผงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๗ และอีก ๑๗ ปีต่อมา ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ตอนแรกจึงตามออกมา จึงกล่าวได้ว่า นี่คือบทโหมโรงของมหากาพย์ที่ได้ชื่อว่ายอดเยี่ยมที่สุดในโลก และผู้ที่ประทับใจ “ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์” มาแล้ว ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
เจ.อาร์.อาร์ โทลคีน